ปัจจุบันเป็นโลกของนวัตกรรมและเทคโนโลยี การพัฒนาที่มากขึ้นในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีก็ทำให้การเข้าถึงเทคโนโลยีเพิ่มสูงมากขึ้นเช่นกัน อย่างที่เห็นได้ชัดเจนคือ การเติบโตของสังคมออนไลน์ ที่ตลอด 10 ปีที่ผ่านมามีการเติบโตอย่างก้าวกระโดดของแพลตฟอร์มออนไลน์ต่างๆ หรืออย่างสื่อโซเชียลล่าสุดที่ดังแบบไม่หยุด ฉุดไม่อยู่ อย่าง แอพพลิเคชัน TikTok ก็เป็นกรณีศึกษาที่น่าสนใจ เป็นแพลตฟอร์มนึงที่เติบโตขึ้นเป็นอย่างมากในช่วงวิกฤตของการระบาดของไวรัสโคโรน่า 

จากตัวเลขที่น่าสนใจในปี 2020 คือ ประชากรใช้เวลาในการเล่นโซเชียลเพิ่มมากขึ้น ซึ่งอุปกรณ์ในการเข้าถึงสื่อโซเชียลมากกว่า 90% เป็นการเข้าถึงจากสมาร์ทโฟน ซึ่งกลุ่มคนที่โลดแล่นในโซเชียลมากที่สุดคงไม่พ้นกลุ่มของชาว Millenial ที่มีอายุอยู่ที่ 25 – 34  ปี  และอีกหนึ่งข้อทูลที่น่าตกใจคือ เวลาในการใช้อินเตอร์เนตของคนไทยที่เพิ่มมากขึ้น จากปี 2019 โดยเฉลี่ย คนไทยใช้อินเตอร์เนตประมาณ 4-5 ชั่วโมงต่อวัน (Hootsuit,2020) แต่ใน 2020 อัตราการใช้อินเตอร์เนตเพิ่มมากขึ้นถึง 9-10 ชั่วโมงต่อวัน 

แต่อย่างไรก็ตามนอกจากอินเตอร์เนตจะมีด้านดีต่างๆมากมายไม่ว่าจะทำให้การติดต่อสื่อสารเป็นไปได้ง่ายขึ้น หรือจะเป็นแหล่งหาความบันเทิง เป็นที่พักผ่อนหย่อนใจของใครหลายๆคน แต่เมื่อการใช้เวลาในโลกออนไลน์มากเกินไปก็ส่งผลเสียได้ เช่น ปัญหาการเข้าสังคม ปัญหาต่ออารมณ์และกระบวนการคิด และที่สำคัญคือส่งผลต่อปัญหาสุขภาพ ยิ่งในเด็กเล็ก หากไม่มีผู้ปกครองดูแลหรือมีวิธีการป้องกันที่เหมาะสม ซึ่งจากผลวิจัยของ แซมปาซา แคนยิงกา จาก Department of Epidemiology, Ottawa Public Health ประเทศแคนาดา มีผลกระทบต่อร่างกายดังนี้

ปัญหากล้ามเนื้อคอและหลัง

การอยู่กับอินเตอร์เนตนานๆไม่ว่าจะเป็นการทำงาน การเรียน หรือเพื่อผ่อนคลายในยามว่างการอยู่ท่าเดิมนานๆ โดยไม่เปลี่ยนท่า จะส่งผลให้เกิดการปัญหาการปวดกล้ามเนื้อได้ ซึ่งปัญหานี้มักพบเจอในพนักงานออฟฟิศที่จะนั่งทำงาน ไม่ได้ลุกขยับไปไหน เป็นปัญหาที่เกิดจากพฤติกรรมสุขภาพ ซึ่งอาการเหล่านี้หากไม่รีบรักษาอาจพัฒนาไปสู่การเป็น Office Syndrome ได้ ซึ่งเราสามารถปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเหล่านี้ได้ โดยการขยับหรือเปลี่ยนอริยาบทในการนั่ง การยืดเส้นยืดสาย และนอกจากปัญหาการปวดคอ บ่า หลังแล้ว การนิ้วล็อคก็พบเจอได้มากเช่นกัน ซึ่งเกิดจากพฤติกรรมในการใช้ นิ้วเดิมซ้ำๆเป็นเวลานานทำให้เส้นเอ็นทับเส้นประสาท ซึ่งจะทำให้มือชา หรืออาจทำให้เกิดการอักเสบของข้อมือหรือนิ้วมือได้ ซึ่งอาการนิ้วล็อคส่วนใหญ่จะพบในผู้ที่เล่นอินเตอร์เนต หรือใช้งานกับสมาร์ทโฟนบ่อยๆ

ปัญหาในการนอนหลับ

หลายๆคนอาจจะคาดไม่ถึงว่าการเล่นอินเตอร์เนต เล่นโซเชียลมากๆจะส่งผลต่อการนอนหลับด้วย แต่ในความเป็นจริงสิ่งที่ส่งผลต่อการนอนหลับคือแสงสีฟ้าจากหน้าจอ ซึ่งแสงสีฟ้าเป็นตัวการที่ทำให้ระบบการนอนของเราเปลี่ยนไป ส่งผลกระทบต่อนาฬิกาชีวิตของเรา เพราะแสงสีฟ้าส่งผลต่อการผลิตฮอร์โมนชนิดหนึ่งในร่างกายของเราที่ควบคุมการหลับ การตื่น ซึ่งฮอร์โมนนั้นก็คือ ฮอร์โมนเมลาโทนิน ซึ่งการนอนหลับที่ไม่เพียงพอ หรือการนอนที่ไม่ได้คุณภาพก็จะทำให้ร่างกายเกิดการอ่อนเพลียสะสม ส่งผลให้เรารู้สึกไม่สดชื่นเวลาตื่นนอนและอาจส่งผลในเรื่องของความจำ ซึ่งก็ส่งผลกระทบต่อไปในด้านอื่นๆทำให้ประสิทธิภาพในการเรียนหรือการทำงานลดน้อยลงไปด้วย นอกจากนี้การพักผ่อนน้อย นอนดึกยังทำให้ระบบเผาผลาญในร่างกายปั่นป่วน ทำให้เกิดโรคต่างๆตามมา ไม่ว่าจะเป็น โรคหัวใจ เบาหวาน ความดัน โรคอ้วน และยังมีความเสี่ยงต่อการใช้สิ่งเสพติดต่างๆมากกว่าคนปกติทั่วไปเพื่อช่วยในการนอนหลับอีกด้วย ดังนั้นควรงดเล่นมือถือก่อนนอนอย่างน้อย 1 ชั่วโมง เพื่อให้ดวงตาและสมองได้ปรับตัวสู่สภาวะปกติเพื่อที่จะเข้าสู่การพักผ่อน

ปัญหาการปวดศีรษะ

นอกจากแสงจากการเล่นอินเตอร์เนต การอยู่ในโลกโซเชียลโดยที่อยู่ท่าเดิมนานๆจะทำให้เกิดการปวดกล้ามเนื้อแล้ว ยังส่งผลต่อสมองและระบบประสาทด้วย ซึ่งแสงจากจอเป็นส่วนหนึ่งที่กระตุ้นให้เกิดการปวดไมเกรน ทำให้ปวดศีรษะ

ปัญหาด้านสายตา

แสงจากหน้าจอทำให้ส่งผลต่อปัญหาด้านสายตาที่มากขึ้น ยิ่งเป็นผู้ที่ต้องใช้เวลาอยู่กับหน้าจอ แล้วต้องใช้การเพ่งนานๆ ดวงตาก็เป็นอวัยวะหนึ่งการใช้งานอย่างต่อเนื่องโดยไม่ได้พักผ่อนเลย ทำให้เกิดการบาดเจ็บสะสม ซึ่งการมองจอนานอาจทำให้เกิดอาการตาแห้ง ปวดตา และยังมีโรคด้านสายตาที่เกิดจากการมองจอที่มักพบได้บ่อยคือ โรควุ้นในตาเสื่อม ซึ่งจากการสำรวจในประเทศไทย พบผู้ที่เป็นโรควุ้นในตาเสื่อมมากกว่า 14 ล้านคน อาการของโรคคือมองเห็นเป็นจุดหรือคล้ายหยากไย่ โดยมากจะสังเกตได้ในเวลากลางวัน และเวลากลางคืนหรือในที่มืดจะเห็นเป็นแสงคล้ายแสงแฟลชในตา โดยสาเหตุหลักของโรคนี้คือเกิดจากการที่ใช้สายตามากเกินไป ซึ่งสามารถป้องกันได้โดยการพักสายตา หรือสวมใส่แว่นตาที่ช่วยในการมองเพื่อให้ดวงตาสบายมากขึ้น